มนต์เสน่ห์ที่สัมผัสได้ในสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นอันทรงคุณค่าแบบโคราช
ที่ได้รับการประกาศให้เป็น “มรดกจังหวัดนครราชสีมา”
ณ ชุมชนบ้านปรางค์ อำเภอคง จังหวัดนครราชสีมา
“ชุมชนบ้านปรางค์” อำเภอคง จังหวัดนครราชสีมา มีแหล่งทางประวัติศาสตร์สำคัญ คือ “ปราสาทบ้านปรางค์” ที่เป็นศาสนสถานสำคัญในวัฒนธรรมเขมรโบราณ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗ จึงเป็นหัวใจสำคัญที่ดึงดูดให้ผู้คนเดินทางมาสักการะและท่องเที่ยวในชุมชน ลองลิ้มชิมรสอาหารท้องถิ่น สัมผัสกลิ่นไอทางประวัติศาสตร์นับพันปี ชื่นชมบารายหรือแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่สามารถเดินข้ามสะพานที่สร้างจากความร่วมแรงร่วมใจภายในชุมชน และอีกแรงดึงดูดหนึ่งที่เกิดขึ้นด้วยความตั้งใจร่วมกันในชุมชนโดยมีคุณประวิตร ชุมสุข ผู้หลงใหลและสัมผัสถึงเสน่ห์ของชุมชนจึงมุ่งมั่นจะพัฒนาท้องถิ่นให้มีความงาม การอนุรักษ์ และเกิดรายได้ไปควบคู่กัน จึงได้อาสาในการเป็นประธานวิสาหกิจชุมชนการท่องเที่ยวชุมชนบ้านปรางค์ ขับเคลื่อนการพัฒนาหลากหลายด้านโดยเฉพาะการสร้างการรับรู้ในคุณค่าของสถาปัตยกรรมที่ปรากฏในเรือนพักอาศัยที่มีอายุอานามไม่น้อยในชุมชนบ้านปรางค์ นับเป็นความภาคภูมิใจในความละเมียดละไมของภูมิปัญญางานช่างฝีมือดั้งเดิมและเทคนิคทางสถาปัตยกรรมที่เป็นอัตลักษณ์เฉพาะตัวของบรรพบุรุษที่ได้สร้างไว้
.
ชุมชนบ้านปรางค์ อยู่ในเขตพื้นที่บ้านปรางค์ หมู่ ๑ และบ้านปรางค์นคร หมู่ ๑๔ ตำบลบ้านปรางค์ จากการสำรวจของผศ.ศราวุฒิ ใจอดทน อาจารย์ในหลักสูตรสถาปัตยกรรม คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ได้ทำการสำรวจ พบว่า สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นในชุมชนบ้านปรางค์ในอดีตมีทั้งเรือนโคราช และเรือน (ใน)โคราช โดยมีอายุตั้งแต่ ๕๐- ๑๐๐ ปี และเรือนที่มีอายุมาก ๑๐๐ กว่าปี โดยส่วนใหญ่ใช้เพื่อเป็นที่พักอาศัย และบางหลังใช้เพื่อเป็นสถานที่จำหน่ายและรับซื้อข้าวและปอกระเจา ซึ่งในอดีตเป็นอาชีพหลักของชาวบ้านในแถบนี้ โดยวัสดุในการสร้างหรือปรุงเรือนส่วนใหญ่ได้มาจากไม้ที่หาได้จากป่าหรือดงโคกหลวงในอดีต ต่อมาเมื่อกาลเวลาได้ล่วงพ้นมาจนถึงปัจจุบัน ค่านิยมในเรือนไม้ได้ลดความนิยมลง ประกอบกับการผุพังตามกาลเวลาของตัวเรือนทำให้เจ้าของหรือคนรุ่นใหม่ที่รับช่วงต่อได้รื้อถอนเพื่อสร้างเป็นบ้านปูนหรือครึ่งตึกครึ่งไม้ตามที่นิยมกันในสมัยใหม่ แต่ก็ยังมีไม่น้อยกว่า ๓๐ หลังที่ยังมีการใช้งานเพื่อเป็นที่อยู่อาศัย และมีเรือนบางหลังที่เจ้าของเห็นความสำคัญและอนุรักษ์จึงได้มีการปรับปรุงเรือนโดยให้คงรูปแบบเรือนดั้งเดิมเอาไว้ นำมาสู่แนวคิดการรวมตัวกันเพื่อทำภารกิจอะไรบางอย่างเพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชน โดยนำคุณค่าทางสถาปัตยกรรมมาเป็นฐานทุนในการต่อยอด
.
อาจารย์ณภัค คณารักษ์เดโช อาจารย์ในสาขาวิชาการตลาด มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ได้เล็งเห็นถึงความเข้มแข็งของชุมชน ฐานทุนทางวัฒนธรรม และศักยภาพของพื้นที่จึงได้เชิญชวนให้ธนาคารออมสิน มาร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ในการพัฒนาทางการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของชุมชนบ้านปรางค์ โดยได้จุดประกายให้คนในชุมชนเห็นคุณค่าของเรือนไม้พื้นถิ่นที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในลักษณะเฉพาะของชาวโคราช ในฐานะอัตลักษณ์สำคัญที่ควรจะต้องช่วยกันรักษาไว้ร่วมกับมรดกทางวัฒนธรรมประเพณี จึงเกิดเป็นที่พักโฮมสเตย์ที่ชาวบ้านเป็นคนดูแล และอาหารที่เป็นเอกลักษณ์ประจำถิ่น เช่น ขาหมูถั่วดำ น้ำพริกหมูโคราช สะเออะเด้อ (ไข่ตุ๋นใส่ปลาร้า) ทอดมันบ้านปรางค์ ซึ่งเป็นอาหารพื้นบ้านที่หาทานได้ที่ชุมชนแห่งนี้เท่านั้น นอกจากนี้ยังมีขนมปาดใบเตย ที่เป็นขนมภูมิปัญญาท้องถิ่น ถึงแม้จะเริ่มต้นด้วยเป้าหมายทางการท่องเที่ยว แต่กิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้สนับสนุนให้เกิดการอนุรักษ์บ้านเรือนต่างๆ ในชุมชนขึ้น และเปิดเป็นพื้นที่การเรียนรู้ให้แก่นักท่องเที่ยวและผู้สนใจโดยทั่วไป โดยเป็นการอนุรักษ์อย่างค่อยเป็นค่อยไปตามกำลังและความสมัครใจของผู้ที่เป็นเจ้าของเรือนแต่ละหลัง
.
ผศ.เรขา อินทรกำแหง ผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา มีความมุ่งหวังที่จะส่งเสริมคุณค่าที่ปรากฏอย่างชัดเจนร่วมกับการเห็นถึงความพยายามอย่างมากของชุมชนในการร่วมกันอนุรักษ์สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นที่ยังคงหลงเหลือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรือนในลักษณะเรือนโคราช ในฐานะอัตลักษณ์ที่สำคัญที่จะต้องช่วยกันรักษาไว้ร่วมกับมรดกทางวัฒนธรรมประเพณี จึงได้มอบหมายให้หน่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรมท้องถิ่นจังหวัดนครราชสีมา และสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมาทำการศึกษาสำรวจและรวบรวมข้อมูลของลักษณะสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น ศิลปวัฒนธรรม และประเพณีของชุมชน โดยคุณสมฤทัย ปิยรัตน์ คุณพรมงคล นาคดี และคุณสุรชัย เดชชัยพิทักษ์ จัดเก็บข้อมูลเพื่อนำองค์ความรู้มาสร้างเป็นสื่อการเรียนรู้เพื่อเด็กและเยาวชน และสร้างการรับรู้ในวงกว้าง รวมถึงจัดทำข้อมูลเพื่อนำเสนอต่อคณะอนุกรรมการสิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรมประจำจังหวัดนครราชสีมาในการประชุมครั้งที่ ๑/๒๕๖๖ เมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๖๖ ณ ห้องประชุมท้าวสุรนารี ชั้น ๑ ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา โดยได้รับเกียรติจากนายชรินทร์ ทองสุข รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานในการประชุมร่วมกับคณะอนุกรรมการสิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรมประจำจังหวัดนครราชสีมาและผู้แทนจากส่วนราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีมติร่วมกันเป็นเอกฉันท์ประกาศยกย่องให้ “ชุมชนบ้านปรางค์ อำเภอคง จังหวัดนครราชสีมา” เป็นมรดกระดับจังหวัดนครราชสีมา โดยนายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ลงนาม เมื่อวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๖๖ นับเป็นชุมชนต้นแบบในการนำทุนทางวัฒนธรรมมาต่อยอดสร้างรายได้ และเป็นกลไกในการพัฒนาท้องถิ่นบนฐานของการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมและสถาปัตยกรรมควบคู่กันไป เพื่อร่วมกันดูแลรักษามรดกจังหวัด เพื่อเป็นสมบัติของชาติสืบไป